วันที่ 2 มีนาคม 2566 กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศให้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการ มีอุณหภูมิสูงสุดตั้งแต่ 35 องศาเซลเซียสขึ้นไป และคาดการณ์ว่าฤดูร้อนจะสิ้นสุดในเดือนพฤษภาคมนี้ และยังให้ระวังพายุฤดูร้อนด้วย นอกจากภัยธรรมชาติที่ต้องเฝ้าระวังแล้ว กรมควบคุมโรคยังได้ประกาศเตือนให้ประชาชนระวังโรคหน้าร้อนและภัยสุขภาพที่ต้องระวังในช่วงฤดูร้อน พร้อมแนะนำวิธีป้องกัน ดังนี้
1. โรคอุจจาระร่วง
โรคอุจจาระร่วงเป็นโรคที่ยอดฮิตในช่วงฤดูร้อน มีสาเหตุเกิดจากการรับประทานอาหารและน้ำที่ไม่สะอาด รวมถึงการล้างมือไม่สะอาดหรือภาชนะอาหารสกปรก ซึ่งมีการปนเปื้อนจากแบคทีเรีย ไวรัส โปรโตชัว ปรสิต และพยาธิทำให้มีการติดเชื้อ อาการของโรคอุจจาระร่วงจะถ่ายเหลวเป็นน้ำอย่างน้อย 3 ครั้ง หรือถ่ายปนมูกเลือดภายใน 24 ชั่วโมง มีไข้มากกว่า 38.5 องศาเซลเซียส อาการขาดน้ำ และอาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย
วิธีป้องกันโรคอุจจาระร่วง
- รับประทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุก ไม่รับประทานอาหารดิบ และดื่มน้ำสะอาด
- ล้างผักสดและผลไม้ด้วยน้ำสะอาดหลายครั้งเพื่อไม่ให้สกปรกและมีพยาธิปนเปื้อน
- ล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารหรือหลังถ่ายอุจจาระด้วยสบู่และน้ำสะอาด
- ถ่ายอุจจาระในส้วมอย่างถูกสุขลักษณะ รวมถึงกำจัดขยะมูลฝอยไม่ให้เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค
2. โรคไข้ไทฟอยด์ หรือ โรคไข้รากสาดน้อย
โรคไข้ไทฟอยด์หรือโรคไข้รากสาดน้อยเป็นโรคติดต่อผ่านทางการรับประทานอาหารหรือน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย ชื่อว่า ซัลโมเนลล่า ไทฟี่ (Salmonella typhi) มีอาการคือไข้สูงลอย ปวดศีรษะ ปวดท้อง ท้องอืด ท้องผูก ถ่ายเหลว อ่อนเพลีย และผื่นขึ้นตามหน้าอกหรือลำตัว รวมถึงบางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนได้
วิธีป้องกันโรคไข้ไทฟอยด์หรือโรคไข้รากสาดน้อย
- รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้ไทฟอยด์ โดยมีวัคซีนชนิดกิน 2 แบบ คือ แบบน้ำสำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 2 ขวบขึ้นไป และแบบแคปซูลสำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 6 ขวบขึ้นไป และวัคซีนชนิดฉีด
- รับประทานอาหารและดื่มน้ำที่สะอาด ล้างผักผลไม้ให้สะอาดเพราะอาจปนเปื้อน
- ล้างมือด้วยสบูและน้ำให้สะอาดก่อนรับประทานอาหารหรือปรุงอาหาร รวมถึงหลังอุจจาระ
3. โรคอาหารเป็นพิษ
อีกหนึ่งโรคที่ควรระวังอย่างยิ่งในช่วงหน้าร้อน โรคอาหารเป็นพิษเกิดจากเชื้อโรคปนเปื้อนกับอาหาร เมื่อรับประทานอาหารก็จะทำให้เกิดการติดเชื้อจนเป็นโรคอาหารเป็นพิษ มีอาการคือปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้อาเจียน ร่างกายขาดน้ำ มีไข้ ปวดศีรษะ และปวดเมื่อยตามตัว
วิธีป้องกันโรคอาหารเป็นพิษ
สามารถป้องกันดูแลตัวเองได้โดยรับประทานอาหารและน้ำดื่มที่สะอาด ล้างมือก่อนรับประทานอาหารและหลังถ่ายอุจจาระ ไม่กินอาหารดิบและมีแมลงวันตอม
4. โรคอหิวาตกโรค
โรคอหิวาตกโรคเป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหารจากแบคทีเรียชนิดเฉียบพลัน มีอาการคือถ่ายเหลวหรือถ่ายเป็นน้ำอย่างรุนแรง ซึ่งอุจจาระจะไหลออกมาโดยไม่รู้ตัว มีสีขาวขุ่นเหมือนน้ำขาวข้าว แต่ไม่มีอาการปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ร่างกายขาดน้ำ และมีภาวะแทรกซ้อนจนอาการรุนแรงจนถึงชีวิตได้
วิธีป้องกันโรคอหิวาตกโรค
ดูแลตัวเองได้โดยล้างมือให้สะอาดก่อนรับประทานอาหาร ดื่มน้ำต้มสุกและสะอาด รับประทานอาหารปรุงสุก หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารดิบ และระวังผลิตภัณฑ์อาหารเนยนมที่ไม่ได้ผ่านการพาสเจอร์ไรซ์ ซึ่งอาจมีการปนเปื้อนจากเชื้อแบคทีเรียได้
5. โรคไวรัสตับอักเสบ เอ
โรคไวรัสตับอักเสบ เอ มีสาเหตุจากการติดเชื้อไวรัสกลุ่ม Picornavirus ทำให้ตับเกิดการอักเสบเฉียบพลัน มีอาการคือไข้อ่อน ๆ เหนื่อยล้า ปวดหัว ปวดท้องขวาบน ปวดตามกล้ามเนื้อและข้อ ท้องผูก ปัสสาวะสีเข้ม ตัวและตัวเหลือง
วิธีป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ เอ
สามารถป้องกันดูแลตัวเองโดยล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนปรุงอาหารหรือหลังเข้าห้องน้ำ รวมถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไวรัสตับอักเสบ เอ
นอกจากโรคฤดูร้อนที่ต้องระวังแล้ว ยังมีภัยต่อสุขภาพที่ควรระวัง 3 ภัยสุขภาพ ได้แก่ การเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อน หรือที่เรียกว่าอาการฮีทสโตรก ผลกระทบต่อสุขภาพที่ได้รับจากปัญหาหมอกควัน และการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากการจมน้ำ
|