ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าอนุวงศ์สวามิภักดิ์ญวนยกกองทัพตีไทยเรื่อยลงมาถึงนครราชสีมา เกิดการสู่รบกับคุณหญิงโม ทับของเจ้าอนุวงศ์ถูกตีแตก ในที่สุดครอบครัวชาวเวียงจันทร์รวมทั้งชาวไทยพวนได้ถูกกวาดต้อนมาเป็นเชลยศึก อพยพลงมาตามริมแม่น้ำตั้งบ้านเรือนที่บ้านเชียง อีกส่วนหนึ่งถูกต้อนลง
มากรุงเทพฯ สระบุรี ลพบุรี และสิงห์บุรี ไทยพวนจะอพยพกันมาตามริมแม่น้ำเป็นส่วนมากครอบครัวไทยพวนที่อพยพครั้งนั้นเมื่อมาถึงสระบุรี ได้พากันแสวงหาที่อยู่ ที่ทำกิน ผลที่สุดได้พากันมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่อำเภอหนองโดน ตามหมู่บ้านต่าง ๆ คือ บ้านกลับ บ้านครัว บ้านคลอง บ้านคลองบุญ บ้านหนองโดน บ้านทองย้อย และบ้านหนองแร่ โดยเฉพาะที่ตำบลบ้านกลับกลับมีชนเผ่าไทยพวนอาศัยอยู่จำนวนมาก และยังสืบทอดวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีให้คงอยู่ต่อไป
“บ้านกลับ” เป็นชื่อตำบลหนึ่งของอำเภอหนองโดน ได้ถือกำเนิดขึ้นมาประมาณร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งได้แยกออกจากชุมชนบ้านกลับเก่า โดยมีสาเหตุมาจากเกิดไฟไหม้ครั้งใหม่ และเกิดโรคอหิวาตกโรคระบาดขึ้น ทำให้ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งมีความคิดว่า การเกิดไฟใหม่และการเกิดการระบาดของโรคอหิวาตกโรคครั้งนี้อาจจะทำให้เกิดการเสียชีวิตกันหมดทั้งหมู่บ้าน จึงมีความคิดที่จะย้ายถิ่นฐานมาตั้งหมู่บ้านใหม่ โดยได้มีการรวบรวมสมัครพรรคพวก เพื่อที่จะช่วยกันย้ายมาตั้งเป็นหมู่บ้านใหม่ขึ้น ชื่อว่า “ชุมชนหมู่บ้านกลับ” และที่เดิมมีคนอาศัยอยู่บางส่วนเรียก “บ้านกลับเก่า” ซึ่งคำว่า “บ้านกลับ” มีคนให้ความหมายว่า การกลับถิ่นฐานของคนในหมู่บ้าน ไม่ว่าคนพวกนั้นจะไปอยู่ที่ใด ก็จะต้องกลับมาอยู่ที่บ้านกลับแห่งนี้
|